บทความ

ค่าใช้จ่าย และเอกสารที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อคอนโดฯ

ค่าใช้จ่าย และเอกสารที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อคอนโดฯ

ปัจจุบัน “คอนโดมิเนียม” เป็นอสังหาริมทรัพย์ยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย ซึ่งคอนโดฯ ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล แม้กระทั่งในต่างหวัด ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า ถนนสายหลัก ส่วนในต่างจังหวัดจะเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญๆ ของไทย อาทิเช่น เชียงราย ลำปาง อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย ทั้งซื้อไว้เพื่ออยู่ เพื่อลงทุนปล่อยเช่า หรือขายต่อ ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังวางแผนจะซื้อคอนโดฯ สักห้อง ควรเตรียมตัวเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

1.เงินจอง  จำนวนเงินจองเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยส่วนใหญ่เงินจองจะประมาณหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

2.เงินทำสัญญา หลังจากได้ทำการจองไปแล้ว ภายใน 7-14 วันทางเจ้าของโครงการจะกำหนดวันทำ “สัญญาจะซื้อจะขาย” ซึ่งเงินทำสัญญาปกติจะก้อนใหญ่กว่าเงินจอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ เช่นกัน มีทั้งหลักหมื่นและหลักแสน

3.เงินดาวน์   (แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ) เนื่องจากแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ ได้ในสัดส่วน LTV ( Loan to Value Ratio) ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งก็คือตัวคอนโด ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องดาวน์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของราคาซื้อขาย (รวมเงินจองและเงินทำสัญญา)

4.ค่าประเมินราคาห้องชุด   โดยจ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ให้กับธนาคารที่เรายื่นกู้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อการประเมินหนึ่งครั้ง ยิ่งยื่นกู้หลายธนาคารก็ต้องจ่ายมาก ค่าประเมินที่ได้จ่ายไปแล้ว ถ้ากรณีที่กู้ไม่ผ่านหรือไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ก็ไม่มีการคืนเงิน

5.ค่าจดทะเบียนจำนอง จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ อัตราปกติคิด 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง โดยต้องชำระให้สำนักงานที่ดิน เหตุผลที่ต้องเสียค่าจดทะเบียนจำนองเพื่อเอาคอนโดฯ เป็นประกันหนี้ให้กับธนาคาร

6.ค่าธรรมเนียมการโอน  จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน อัตราปกติคิด 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน ซึ่งทางกฏหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดิน มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อและผู้ขายจะออกกันคนละ 50% หรือแล้วแต่ตกลง

7.เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง  เป็นเงินกองกลางที่นิติบุคคลอาคารชุดจะเรียกเก็บไว้เป็น “กองทุนสำรอง” เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการในระยะยาว โดยคิดตามขนาดพื้นที่ห้องชุดตามระดับราคาห้องชุด เช่น ห้องชุดมีพื้นที่ส่วนกลาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมาก อัตราเงินกองทุน จึงย่อมสูงตามลำดับ

8.ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย  (จ่ายเป็นปี หรือแล้วแต่กำหนด) ถ้ากู้เงินมาจากธนาคาร โดยปกติธนาคารจะกำหนดให้ต้องทำประกันอัคคีภัยห้องชุดด้วย โดยผู้ซื้อต้องรับภาระในการชำระเบี้ยประกัน และธนาคารจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ หากเกิดอัคคีภัยบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินไปที่ธนาคารในฐานะผู้รับผลประโยชน์ เพื่อเอาเงินนี้ไปตัดหนี้กับเงินกู้ ซึ่งปกติมักจ่ายพร้อมกับเงินผ่อนชำระงวดแรก และส่วนใหญ่จะเรียกเก็บ 3 ปีครั้ง อัตราเบี้ยมาตรฐานกรมการประกันภัยกำหนดไว้

9.ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า  ปกติโครงการมักออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้าให้ก่อน แล้วเรียกเก็บทีหลังตามอัตราที่การประปา-การไฟฟ้ากำหนด โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 2,000-4,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า และเงื่อนไขของโครงการ

10.ค่าประกันภัยอาคาร  (จ่ายตามโครงการกำหนด) หากนิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดฯ มีการทำประกันอัคคีภัยหรือประกันความเสียหายของทรัพย์สิน เจ้าของห้องชุดก็ต้องร่วมจ่ายค่าประกันภัยนี้ด้วย โดยปกติคิดตามสัดส่วนพื้นที่ห้องชุด

เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการซื้อคอนโด
1. นิติกรรมสัญญา
1.1 หนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย
เป็นรายละเอียดหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน หรือห้องชุด ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นราคา รายละเอียดของห้อง เงินมัดจำ เป็นต้น โดยกำหนดว่าจะโอนที่ดิน ภายหลังจากวันที่ทำสัญญา ซึ่งจะต้องเก็บฐานหนังสือดังกล่าวไว้ทั้งสองฝ่าย คนละ 1 ชุด เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสารยื่นขอกู้สินเชื่อกับธนาคารต่อไป
1.2 หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. 13)
เอกสารสำคัญนี้ คือ ใบซื้อขายที่ดิน ซึ่งเจ้าของเดิมได้ทำนิติกรรม ณ กรมที่ดิน ไว้แล้ว โดยกรณีซื้อขายบ้านมือสอง จำเป็นต้องได้รับหนังสือดังกล่าว เนื่องจากธนาคารจะขอสำเนาพร้อมกับสัญญาจะซื้อจะขาย ในวันขอสินเชื่อ

2. สำเนาบัตรประชาชน+ทะเบียนบ้าน ผู้ชื้อ-ขาย
อีกถึงหลักฐานสำคัญ สำหรับผู้ที่ซื้อขายบ้านหรือห้องชุดมือสอง เพราะหากเกิดปัญหาผิดพลาดทางเทคนิค สามารถเรียกร้องตามกฎหมายได้

3. สำเนาโฉนดบ้านหรือห้องชุด
เป็นสิ่งที่ต้องได้รับ ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อเป็นการยืนยันถึงการครอบครองกรรมสิทธิ์บ้านหรือห้องชุดนั้น โดยภายในสำเนาโฉนด จะต้องบอกรายละเอียดขนาดพื้นที่ของบ้านหรือห้องชุดนั้นด้วย

4. เอกสารหลักฐานรายละเอียดการโอน
ถือว่าเป็นเอกสารยืนยันว่าได้รับการครอบครองบ้านหรือห้องชุดนั้นแล้ว และเป็นอีกหนึ่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่ควรเก็บไว้

5. ส่วนของสิทธิและนิติกรรม (ท.ด. 1)
หนังสือฉบับนี้ จะบอกรายละเอียดของโฉนดที่ดิน และตำแหน่งที่ดิน ที่มีสิทธิและนิติกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

6. บันทึกการประเมินราคาประเมินราคาทรัพย์สิน (ท.ด.86) เป็นรายละเอียดบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินของห้องชุดและบ้าน

7. บันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร (ท.ด.16)
เป็นสิ่งที่แสดงหลักฐานว่าผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ นั้นได้เสียภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้แล้ว

8. ส่วนของหนังสือใบปลอดหนี้ ออกโดยนิติบุคคล (กรณีของการซื้อขายห้องชุด) หนังสืออีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันว่า ทางเจ้าของห้องชุดที่ขายต่อนั้น ไม่มีหนี้ค้างชำระค่าส่วนกลาง หรือเงินกองทุน แต่อย่างใด